เกี่ยวกับโครงการ
การละเล่นพื้นบ้านหรือเกมพื้นบ้าน เป็นการเล่นที่แสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณะเฉพาะถิ่น มีการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ หรือลัทธิธรรมเนียมของหมู่บ้านหรือชนเผ่าต่างๆ แสดงถึงวัฒนธรรมไทย ประเพณีที่มีมาแต่โบราณ มีนักจิตวิทยาและนักการศึกษาหลายท่าน ได้ให้ความคิดเห็นต่อการเล่นของเด็กไว้คล้ายคลึงกัน เช่น เพียเจต์ (Piaget) ได้ให้ความเห็นต่อการเล่นของเด็กไว้ว่า การเล่นเป็นสิ่งที่สำคัญในการพัฒนาทางด้านสติปัญญาให้แก่เด็ก และการเล่นจะพัฒนาไปตามลำดับของพัฒนาการทางสติปัญญาตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยเด็กตอนปลาย ในขณะที่ซัททัน-สมิทธิ์ (Sutton-Smith) มีความเห็นว่าพฤติกรรมการเล่นของเด็กนั้นเป็นพฤติกรรมที่มีความซับซ้อน และมีความต่อเนื่องของการใช้ทักษะทางกายและทางความคิดซึ่งจะเปลี่ยนไปตามพัฒนาการของเด็ก การเล่นจึงเป็นการชี้วุฒิภาวะทางร่างกาย ทางสมอง ทางบุคลิกภาพและทางสังคมของเด็กได้ ส่วนสคาร์ฟ (Scarfe) ให้แนวความคิดว่าการเล่นของเด็ก คือ วิธีการค้นพบโลกใหม่ เป็นการทดลองให้เด็กสร้างสัมพันธ์ของตนเองกับโลกโดยรอบ การเล่นทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และยังช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับโลกได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในชีวิตการงานและยังช่วยฝึกทักษะที่จำเป็นของชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นทำให้เด็กมีความมั่นใจและค้นพบตัวเองทีละน้อยการละเล่นของเด็กช่วยพัฒนาเด็กได้หลายทาง
ในปัจจุบัน การจัดการศึกษาของโรงเรียนต่างก็นำการละเล่นพื้นบ้านมาเป็นกิจกรรมนันทนาการแก่เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น ด้วยวิธีการอธิบายด้วยคำพูด การแสดงท่าทางประกอบ ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างมากเพื่อให้เด็กเล็กเกิดความเข้าใจ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ด้วยปัญหานี้ การสร้างสื่อการสอนนับว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่จะทำให้กิจกรรมเกิดผลบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การ์ตูนเป็นโสตทัศนวัสดุประเภทหนึ่งที่ใช้เพื่อเร้าความสนใจและส่งเสริมกิจกรรมในการเรียนการสอนของนักเรียน เพราะนอกจากจะทำให้เด็กนักเรียนไม่เบื่อแล้วยังทำให้เด็กนักเรียนเพลิดเพลินกับบทเรียน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการด้านต่างๆ ให้เด็กนักเรียนอีกทางหนึ่ง ภาพที่เด็กนักเรียนชอบและมีความสนใจ ย่อมมีส่วนชักจูงให้เด็กนักเรียนเข้าใจเนื้อหาที่นำเสนอนั้นไปด้วย การที่เด็กโปรดปรานรายการการ์ตูนมากที่สุด อาจเป็นเพราะภาพยนตร์การ์ตูนเปรียบเสมือนสิ่งที่มีชีวิต และเคลื่อนไหวได้ (animated cartoons) มีการลำดับภาพการ์ตูนและเรื่องราวต่อเนื่องคล้ายกับภาพยนตร์ เพียงแต่ใช้ตัวละครที่เป็นการ์ตูนแทน นอกจากนี้ภาพยนตร์การ์ตูนมักเป็นเรื่องราวที่ตลกขบขัน ดูแล้วเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน (simplify) และลักษณะของตัวละครการ์ตูนที่เกินความเป็นจริง (exaggerated) ภาพยนตร์การ์ตูนนั้นเป็นเรื่องสั้นๆ เข้าใจง่ายสนุก มีสีสันสวยงาม มีการเคลื่อนไหวที่ดึงดูดใจ โครงสร้างเรื่องของภาพยนตร์การ์ตูนมีลักษณะที่สอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกของเด็กที่ดู และมีเนื้อหาเกี่ยวกับของที่ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมที่เด็กเห็นอยู่เป็นประจำวัน เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน และที่สำคัญการ์ตูนเป็นรายการที่มีลักษณะจินตนาการของตนเอง เพราะเด็กๆ ยังไม่ผูกติดอยู่กับความเป็นจริงมากนัก
ด้วยเหตุนี้ การสร้างแอนนิเมชั่นการ์ตูนเพื่อนำเสนอการละเล่นพื้นบ้าน นอกจากจะสนับสนุนให้เด็กนักเรียนเกิดความเข้าใจในการละเล่นชนิดนั้นแล้ว ยังส่งเสริมให้การการเรียนรู้ เกิดการพัฒนาด้านความคิด สติปัญญา อีกทั้งยังสามารถใช้การเรียนรู้สื่อนวัตกรรมนี้เป็นเครื่องมือสืบทอดการละเล่นพื้นบ้านให้เด็กสมัยใหม่ได้รับรู้ และส่งต่อความรู้ในรุ่นต่อไปได้ ถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของคนได้ได้อีกทางหนึ่ง